พระครู ครูพระ พระครูปราโมทย์ประชานุกูล“วัดดอนจั่น”

พระครู-ครูพระ พระครูปราโมทย์ประชานุกูล “วัดดอนจั่น”

ในอดีต นอกจาก “วัด” จะเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และชาวพุทธ ยังเป็นที่พึ่งพิงของคนยากจน ต่อมาวัดยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของชุมชน

แม้ปัจจุบัน บทบาทของวัดในฐานะศูนย์การศึกษาจะเลือนหายไปเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่วัดดอนจั่น ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี พระครูปราโมทย์ประชานุกูล หรือพระอธิการอานันท์ อานันโท เป็นเจ้าอาวาส กลับสร้างให้วัดเป็นที่พึ่งของคนยากจน เป็นศูนย์กลางการเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสในสังคมได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง

พระครูปราโมทย์ประชานุกูล ก่อตั้งโครงการเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนและเด็กกำพร้า มานานกว่า ๒๕ ปี โดยรับอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กใน ๑๓ จังหวัดภาคเหนือ

ความหวังของพ่อแม่ และเด็กส่วนใหญ่ ที่มาอาศัยอยู่วัดดอนจั่น คือ มีที่อยู่ที่อบอุ่น มีอาหาร ๓ มื้อรับประทาน และได้เรียนหนังสือ
นับตั้งแต่ พระครูปราโมทย์ประชานุกูล ก่อตั้งโครงการเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนและเด็กกำพร้า เพื่อรับอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กใน ๑๓ จังหวัดภาคเหนือ เมื่อปี ๒๕๒๘ โครงการนี้ได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ร่ำเรียนที่โรงเรียนวัดดอนจั่น จนจบการศึกษาไปแล้วปีละ ๕๐ คน ปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า ๒๕ ปี มีเด็กจบการศึกษาในระดับประถม มัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. มากกว่า ๑,๒๕๐ คน

เด็กๆ ที่เข้ามาอยู่ที่วัดดอนจั่น ล้วนมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน แตกแยก พ่อแม่แยกทางกัน หรือเสียชีวิต เพราะติดเชื้อเอชไอวี ติดยาเสพติด ติดคุก พระครูปราโมทย์ประชานุกูล ในฐานะเจ้าของโครงการ ถือเป็นกำลังหลักในการระดมทุน และรับบริจาคเงิน-สิ่งของจากผู้ใจบุญ และผู้มีจิตศรัทธาในแนวทางการทำงานของท่าน เด็กที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนวัดดอนจั่น จะได้รับการช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ ตั้งแต่ที่พักพิง เสื้อผ้า อาหาร ๓ มื้อ รวมไปถึงได้รับการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม หรือสาขาวิชาชีพระดับ ปวช. ปวส. และทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรี

พระครูปราโมทย์ประชานุกูล กล่าวว่า เป้าหมายที่วัดดอนจั่นนำเอาเด็ก-เยาวชน ที่เป็นเด็กด้อยโอกาสในสังคม รวมถึงเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ที่รัฐบาลไม่สามารถจัดระบบการศึกษาเข้าถึงพื้นที่ได้ วัดดอนจั่นได้นำเด็กเหล่านี้มาเลี้ยงดู และให้การศึกษา ตั้งแต่อดีต โรงเรียนวัดดอนจั่น แบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเด็กเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๑ จนถึง ม.๓ ที่กินนอนอยู่ในหอพักของโรงเรียนวัดดอนจั่น จำนวน ๔๒๐ คน

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงขยายโอกาสทางการศึกษา โดยร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่าง ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ วิทยาลัยสารพัดช่าง สาขาวัดดอนจั่น จัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในสายอาชีพ เพื่อต่อยอดให้เด็กที่จบชั้น ม.๓ จากโรงเรียนวัดดอนจั่น แต่ไม่มีทุนเรียนต่อ มีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ปวช.และปวส.

ปัจจุบัน มีเด็กที่เรียนในระดับวิชาชีพ เป็นนักเรียนกิน-นอน จำนวน ๒๐๐ คน รวมมีเด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถม จนถึงอาชีวศึกษาที่เป็นนักเรียนกิน-นอน ทั้งสิ้น ๖๒๐ คน

วัดดอนจั่น ได้อาศัยผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธาแนวทางการทำงานของพระครูปราโมทย์ประชานุกูล ช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นที่เด็กๆ ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเสื้อผ้า เครื่องอุปโภค-บริโภค อาหาร ๓ มื้อ รวมถึงงบประมาณจัดซื้อที่ดิน สร้างอาคารเรียน หอพัก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัดดอนจั่นอาศัยงบประมาณจากผู้บริจาคในการดำเนินงานทั้งหมด โดยไม่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับงบประมาณจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว

“อาตมาเคารพศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อตอบแทนแผ่นดินทดแทนคุณพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญคุณต่อชาติ ต่อพระศาสนา อาตมาในฐานะเป็นพระรูปหนึ่งที่อาศัยบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ มีจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประเทศชาติ เมื่อสามารถแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์ได้ จึงใช้โอกาสนี้น้อมรับภาระ อันน้อยนิดของพระมหากษัตริย์ ที่อาตมาพึงนำมาปฏิบัติได้ โดยจัดตั้งโครงการขึ้นมา และดำเนินการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสมานานกว่า ๒๕ ปี” พระครูปราโมทย์ประชานุกูล กล่าว

ภาระเดือนละเกือบสองแสนบาท

ปัจจุบัน วัดดอนจั่นต้องใช้เงินในการดูแลเด็กเฉลี่ยหัวละ ๑๐๐ บาทต่อวัน รวมทั้งต้องใช้เงินในการดูแลเด็กทั้งหมด ๖๒๐ คน ถึงวันละ ๖๒,๐๐๐ บาท หรือมากกว่าเดือนละ ๑,๘๖๐,๐๐๐ บาท ถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง ที่พระครูปราโมทย์ประชานุกูล ต้องแบกรับไว้

พระครูปราโมทย์ประชานุกูล บอกว่า ไม่รู้สึกกังวลที่ต้องรับผิดชอบชีวิตเด็ก-เยาวชน ๖๒๐ คน แม้วันหนึ่งต้องถึงเวลาละทิ้งทุกอย่างก็ไม่กังวล เพราะเชื่อว่าจะมีผู้เข้ามารับช่วงทำงานต่อ แต่ปัญหาอยู่ที่บุคคลที่เข้ามาทำงานนั้นจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาเช่นตนเองหรือไม่ และจะทำให้โครงการนี้เป็นที่พึ่งพิงของเด็กด้อยโอกาสได้อย่างไรต่อไป

สิ่งที่ทำไว้ถือเป็นการปลูกต้นไม้พันธุ์ดีให้แก่สังคม หากคนรุ่นหลังไม่ช่วยกันรดน้ำใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง สิ่งที่ทำไว้ก็อาจสูญเปล่า

รัฐบาลมักมีเงื่อนไขว่า ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณ แต่รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงิน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ใช้พระสงฆ์ซึ่งถือเป็นเครื่องมือชั้นดี ที่รัฐบาลสามารถหยิบมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้

ปัญหาสังคมและความยากจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าประเทศใดชาติใดก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่ทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้

การให้การศึกษาเป็นหนทางหนึ่ง ที่ดึงให้เด็กๆ พ้นจากปัญหาเหล่านี้ แต่อีกด้านหนึ่ง พระครูก็ใช้การศึกษามาเป็นตัวหลอกล่อให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งปัญหายาเสพติด การตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กผู้หญิง

“อาตมาอยากขอให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใส่ใจและสนใจปัญหาเรื่องการศึกษาของเยาวชนที่ด้อยโอกาส ฐานะครอบครัวยากจน โดยนำโครงการที่วัดดอนจั่นดำเนินการไปเป็นต้นแบบ และกรณีศึกษา ว่าทำอย่างไรวัดถึงสามารถเลี้ยงดูเด็กๆ มานานกว่า ๒๕ ปี และยังคงมีเด็กเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทุกปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยขอรับการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐเลย เพราะงบประมาณไม่ใช่สิ่งที่วัดต้องการ แต่ต้องการการสนับสนุนด้านบุคลากรที่เข้ามาทำงานมากกว่า”

“อาตมาในฐานะเป็นพระรูปหนึ่ง ที่อาศัยบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ มีจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประเทศชาติ เมื่อสามารถแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์ได้ จึงใช้โอกาสนี้น้อมรับภาระอันน้อยนิดของพระมหากษัตริย์”
พระครูปราโมทย์ประชานุกูล กล่าว

เรื่อง – ภาพ… “จันจิรา จารุศุภวัฒน์”
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20100204/47065/พระครูครูพระพระครูปราโมทย์ประชานุกูล“วัดดอนจั่น”.html

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.