โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และเด็กยากจนวัดดอนจั่น

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และเด็กยากจนวัดดอนจั่น

การศึกษาคือการพัฒนาคน และปัญญาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้า เด็กยากจน และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงได้เริ่มจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตและพัฒนาถิ่นเกิดของตนเอง โครงการนี้ได้ดำเนินการมานานถึง 30 ปี โดยรับนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เย้า อาหู่ อาข่า ลีซอ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ และคนไทยไทย ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมาจากจังหวัดต่างๆในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดตาก พะเยา เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาหลายด้านด้วยกัน เช่น พ่อแม่ตาย พ่อแม่แยกทางกันอยู่ ติดยาเสพติด ติดคุก ทำให้ขาดโอกาสที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน ท่านพระครูปราโมทย์ประชานุกูล จึงจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมารับเด็กดังกล่าว โดยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูทั้งที่พัก อาหาร เครื่องนุ่งห่ม

จากการดำเนินการมานานปรากฏว่านักเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีจึงต้องรับภาระหนักมาก สร้างหอพักสำหรับนักเรียนชายและนักเรียนหญิง และรับภาะเลี้ยงดู โดยได้แรงศรัทธาจากประชาชนที่เคารพ เลื่อมใสและเข้าใจในแนวทางการทำงานของท่าน ทำให้โครงการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยรับอุปการะเลี้ยงดูนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1ถึงระดับ ปวส. รวมนักเรียนที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูจำนวนมาก ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้มาจากแรงศรัทธาและได้ก่อตั้งเป็นกองทุนมูลนิธิช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กที่กล่าวมาข้างต้น

วัตถุประสงค์

  • เพื่อทดแทนแผ่นดินเกิด เมื่อได้เกิดบนแผ่นดินสยาม
  • เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ได้รับการศึกษา
  • เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ให้ได้รับการศึกษาตาม พรบ.ที่กำหนดไว้
  • เพื่อให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองไทยเป็นคนดีของสังคม ประกอบอาชีพสุจริต

เป้าหมาย

ด้านปริมาณ

  • นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับอย่างทั่วถึง
  • เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ในประเทศไทย ได้รับความรู้
  • ประสบการณ์สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปประกอบอาชีพในอนาคต
  • นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการดูแลด้านความเป็นอยู่ ด้านอาหาร ที่พัก ได้ดี

ด้านคุณภาพ

  • นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ร้อยละ 50 ขึ้นไปได้รับการศึกษา จากโครงการที่ตั้งขึ้น
  • เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ร้อยละ50 ขึ้นไปมีโอกาสเรียนหนังสือ
  • เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ร้อยละ 50 ขึ้นไป มีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม
  • เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ร้อยละ 50 ขึ้นไป นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

งบประมาณ

  • จากเงินกองทุนมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส
  • จากผู้มีจิตศรัทธา ประชาชน ที่มาร่วมทำบุญ และผู้ให้การสนับสนุนเจ้าอาวาส ประมาณการใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ห่างไกลได้รับรู้โครงการและนำเด็กเข้ามาศึกษาที่วัดดอนจั่นเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
  • เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส มีโอกาสได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
  • นักเรียนที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ ที่ได้รับไปใขในชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพในอนาคต

สรุปผลการประเมินโครงการ

  • จากการสรุปโดยใช้แบบสำรวจกับ เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ที่เข้ามาอยู่อาศัย ณ วัดดอนจั่น พบว่า ร้อยละ 98 ของเด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ได้รับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับ ปวช. และ ปวส. ในบริเวณวัดดอนจั่น
  • จากการสรุปโดยใช้แบบสำรวจกับ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัย ณ วัดดอนจั่น พบว่า ร้อยละ 97 ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับ ปวช. และ ปวส. ในบริเวณวัดดอนจั่น
  • จากการสรุปโดยใช้แบบสังเกต พบว่า ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กกำพร้า เด็กยากจนและ เด็กด้อยโอกาส ได้รับการดูแลและเลี้ยงดู อย่างมีคุณภาพ มีการดูแลเอาใจใส่จากพระพี่เลี้ยง ทั้งทางด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเอาใจใส่ให้เด็กอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และ จากการสำรวจโดยใช้แบบสำรวจพบว่าร้อยละ 95 ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กกำพร้า เด็กยากจนและ เด็กด้อยโอกาส ได้รับการดูแลและเลี้ยงดู อย่างมีคุณภาพ

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ

ด้านการได้รับการศึกษา

จากผลการดำเนินโครงการ พบว่า เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส และ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัย ณ วัดดอนจั่น มีจำนวนมาก เกิดความร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน เช่น วัดดอนจั่น โรงเรียนวัดดอนจั่น องค์กรภายนอกทั้งของรัฐ และเอกชนได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือนักเรียนทั้งด้านอุปกรณ์การเรียน เงินทุน ทำให้เด็กที่เข้ามาอยู่อาศัย ณ วัดดอนจั่นได้รับการศึกษากันอย่างทั่วถึง ส่วนสาเหตุที่การสำรวจยังมีเด็กบางส่วนที่เข้ามาอยู่อาศัยกับวัดดอนจั่นแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ด้วย ทำให้เด็กทั้งหมดเข้ารับการศึกษาไม่ถึง ร้อยละ 100

ด้านการดูแลและเลี้ยงดู

จากผลการดำเนินโครงการ พบว่า เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กกำพร้า เด็กยากจนและ เด็กด้อยโอกาส ที่เข้ามาอยู่อาศัยในวัดดอนจั่น ได้รับการดูแลและเลี้ยงดู อย่างมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งทางด้าน ที่พัก ที่นอน เครื่องนุ่งหม ด้านสุขภาพ มีการดูแลเอาใจใส่จากพระพี่เลี้ยง นักเรียนรุ่นพี่ โดยมีระบบ พี่ดูแลน้อง ทำให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลที่ปรากฏต่อสังคมจากการดำเนินงานตามโครงการ

เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสที่เข้ามาพักและเรียนหนังสือในโรงเรียนนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเอง สามารถประกอบอาชีพที่สุจริต พูดสื่อสารกับบุคคลอื่นโดยใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่สองในการสื่อสาร ทำให้เกิดรายได้ขึ้นจากการทำงาน นำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในถิ่นธุรกันดารได้เป็นอย่างดี จากการดำเนินงานตามโครงการมาเป็นเวลานาน 30 ปี ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาพักและเรียนมีจำนวนมากขึ้นจากจำนวนสิบกว่าคน จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีทั้งหมด – คน ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของท่านพระครูปราโมทย์ประชานุกูล นับได้ว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีโอกาสได้เข้ารับการศึกษาตาม พ.ร.บ. ที่กำหนดไว้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.